คิดแบบญี่ปุ่น ทำแบบญี่ปุ่น จึงเป็นเบอร์หนึ่งเอเชีย

ทีมชาติญี่ปุ่น เบอร์ 1 เอเชีย อันดับ 28 ของโลก ตามแรงกิ้งฟีฟ่าของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ(ฟีฟ่า)ซึ่งอันดับที่ทีมชาติญี่ปุ่นยืนหยัดนั้นไม่ใช่อันดับที่เป็นภาพลวงตา เนื่องจากความสามารถของทีมที่แสดงออกช่วยยกระดับความเชื่อมั่นเชิงฝีเท้าให้ชาวโลกประจักษ์ ไม่ว่าจะยุคก่อนหน้านี้ที่ฟีฟ่าคิดคะแนนแบบเดิมหรือคิดคะแนนแบบใหม่ ญี่ปุ่น ก็ยังปักหลักไม่ร่วงหล่นหนีหายไปไหน

ทีมญาติญี่ปุ่น มุมมองที่น่าสนใจของวงการฟุตบอลญี่ปุ่นเกี่ยวกับคุณภาพผู้เล่นและการพัฒนาไม่ใช่เพียงเรื่องของโครงสร้างที่ถูกวางรากฐานมาเป็นอย่างดีแข็งแรงชัดเจน มีแผนงานครบทุกระยะไม่ทิ้งผลงานที่วัดค่ามาตรฐานของฟุตบอลในเวทีรายการที่สำคัญ โดยเฉพาะแนวคิดหลักๆในช่วงหลังๆในการต่อยอดโครงสร้างให้ยั่งยืนคือเรื่องของการส่งผู้เล่นชั้นดีออกสู่ลีกชั้นนำในประเทศยุโรป รวมไปถึงทั่วโลก

แนวทางส่งออกนักเตะญี่ปุ่นสู่ยุโรปที่น่าสนใจ

ญี่ปุ่นไม่ปิดโอกาสนักเตะไปค้าแข้งยังยุโรป เพราะคิดว่าความสามารถจะเพิ่มขึ้นหากได้ออกไปเรียนรู้ บางรายอาจจะประสบความสำเร็จ บางรายอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่นักเตะได้ต่อสู้แบบมืออาชีพซึ่งนอกจากการพัฒนาฝีเท้าแล้วยังเป็นการพัฒนาประสบการณ์รวมไปถึงสภาพจิตใจที่จะต้องเปิดโลกฟุตบอลให้ได้ด้วยความตั้งใจ อายุยิ่งน้อยยิ่งผลักดันถ้ามีโอกาส เพราะคิดว่าเมื่อกลายเป็นดาวรุ่งจรัสแสงในวงการฟุตบอลญี่ปุ่นแล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไม่ใช่เล่นกันเองเก่งกันเอง แต่จะต้องไปออกไปสู้ในสนามใหม่ที่ยากกว่า  ความเก่ง ณ ช่วงเวลาหนึ่งหากไม่ยอมออกจากประเทศไปการพัฒนาก็ไม่เกิด ที่สำคัญแนวคิดหลักๆคือ เก่งวันนี้มันไหลคืนกลับมาสู่เจลีกหลังค้าแข้งต่างแดนก็จะยังคงได้ใช้ความสามารถนักเตะที่เก่ง ณ วันนี้หรืออาจจะกลับมาแบบเก่งกว่าเดิมในวันหน้า สิ่งที่เพิ่มเติมคือประสบการณ์ที่จะกลับมาไหลเวียนสู่ระบบลีก

เงินไม่ใช่ทางเลือกแรกๆที่นักเตะญี่ปุ่นตัดสินใจไปยุโรป แต่โอกาสคือความหอมหวานที่บรรดานักเตะญี่ปุ่นทุกคนปรารถนา เงินจะได้มากหรือน้อยคือการออกไปแล้วว่าสอบผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าไม่มีโอกาสเงินก็จะไม่ขยับ การส่งออกไปยังยุโรประดับมหาศาลจนเห็นความสำเร็จ เจลีก กลายเป็นตลาดชั้นนำของโลกนักเตะอยู่ในเป้าสายตาทีมต่างๆ ทั่วโลก

แรงบันดาลใจเกิดขึ้นได้จากโอกาส นักเตะหลายคนออกไปค้าแข้งต่างประเทศจากหลักหน่วยในยุค ฮิเดโตชิ นากาตะ,เคสุเกะ ฮอนดะ,จุนอิจิ อินาโมโตะ,ชินนะสุเกะ นากมูระ, ชินจิ โอโนะ ฯ วันนี้ญี่ปุ่นพัฒนาเข้าสู่หลักร้อย นักเตะเหล่านี้กลายเป็นไอคอนแรงบันดาลใจของนักเตะระดับเยาวชนในประเทศเดินตรงสู่ถนนฟุตบอลกันแบบมหาศาล

รูปแบบการคัดเลือกทีมชาติญี่ปุ่นชุดใหญ่ยุคใหม่ ในช่วง 4-5 ปีหลัง แนวทางชัดเจนคือการเรียกผู้เล่นที่ค้าแข้งต่างแดนในลีกยุโรปมาติดทีมชาติ นั่นคือมาตรวัดชัดเจนว่า ใครที่อยากจะติดทีมชาติชุดใหญ่ต้องดิ้นรนพาฝีเท้าของตัวเองไปเซ็นสัญญาให้ได้ในต่างแดน ปัจจุบันหากนับนิ้วกันจริงๆ นักเตะทีมชาติญี่ปุ่น ค้าแข้งในยุโรป จำนวนเกือบนับร้อย มีทั้งแข้งเกรดเอ,บี ,ซี สามารถจัดทีมชาติเน้นๆได้ 2 ทีม ไม่รวมบรรดาแข้งเผชิญชะตาแบกเป้ไปสู้ฟุตบอลยังดินแดนต่างๆ  เมื่อกลุ่มนี้มีจำนวนมากกลายเป็นคู่เทียบนักเตะเจลีก ที่สามารถจัดชุดทีมชาติได้อีกอย่างน้อย 2 ทีม แต่แนวทางชัดเจนสำหรับทีมชาติญี่ปุ่นทุกรายการไม่นับรายการชิงแชมป์เอเชียตะวันออกญี่ปุ่นจะใช้ผู้เล่นนำเข้าเป็นหลัก

ล่าสุดสมาพันธ์ฟุตบอลญี่ปุ่นและสโมสรต่างๆในประเทศมีแนวคิดร่วมกันว่าจะยกระดับนักเตะญี่ปุ่น ด้วยการพัฒนานักฟุตบอลให้ก้าวสู่สโมสรใหญ่ในยุโรปให้มากขึ้นเพื่อที่จะได้เกมคุณภาพมากขึ้น ซึ่งตัวเลขส่งออก ร ปัจจุบันอาจจะมีมาก แต่ว่าจำนวนนักเตะในทีมชั้นนำยังน้อยเกินไป เพราะมองว่าเมื่อนักเตะลงเล่นรายการยูฟ่าแชมป์เปี้ยนส์ลีก ได้ประโยชน์จะเกิดกับทีมชาติญี่ปุ่นโดยตรง สร้างคุณลักษณะนักเตะค่าเฉลี่ยทั้งประเทศให้มีคุณภาพ ซึ่งคุณลักษณะเด่นที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นมาไม่ใช่แพลตฟอร์มการเล่นระบบโน่นนี่นั่น แต่การสร้างคุณลักษณะของญี่ปุ่นคือ ผู้เล่นมีความสามารถเชิงเทคนิค ,วิธีการคิดในสนาม,ร่างกายถูกสร้างด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬา,ทัศนคติ,วินัยฯ สิ่งเหล่านี้คือจุดแข็งที่ทำให้สโมสรจากทั่วโลกหยิบนักเตะญี่ปุ่นไปใช้ได้ นี่เป็นเพียงบางแง่มุมเท่านั้นสำหรับแผนการส่งออกนักเตะญี่ปุ่นสู่ต่างแดนในลีกชั้นนำ การพัฒนาโครงสร้างเป็นเรื่องสำคัญแต่ญี่ปุ่นมองปลายทางของพวกเขาเสมอว่าโครงสร้างจะต้องถูกเติมด้วยอะไรเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในระบบ