รวมกฎใหม่ใน พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2021-22

กฎระเบียบใหม่ของศึก พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2021-22 กำลังจะเริ่มขึ้นในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคมนี้แล้ว โดยเกมเปิดซีซั่นใหม่คือนัดที่ เบรนท์ฟอร์ด ทีมน้องใหม่จะเปิดบ้านเจอกับ อาร์เซน่อล ซึ่งในซีซั่นนี้มันมีการปรับเปลี่ยนกฎกันในระดับหนึ่งด้วย ลองไปดูเลยว่ามีอะไรกันบ้าง

– เส้นวัดล้ำหน้าหนาขึ้น

ก่อนหน้านี้เวลาผู้ตัดสินทางห้อง วีเออาร์ จะตัดสินว่ามันล้ำหน้าหรือไม่นั้น จะดูจากเส้นจำลองที่ตีขึ้นมา แต่สมัยก่อนเส้นมันมีความกว่างในระดับ 1 มิลลิเมตรเท่านั้น ทำให้ในบางครั้งมันตัดสินได้ยากว่าเป็นจังหวะล้ำหน้าจริงๆ หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในฤดูกาลนี้มีการเปลี่ยนให้เส้นดังกล่าวบนหน้าจอมอนิเตอร์ของทีมงาน วีเออาร์ ขยายเป็น 5 เซนมิเตรแล้ว ซึ่งเท่ากับที่ทางสถานีโทรทัศน์ใช้กัน โดยในศึก ยูโร 2020 ที่เพิ่งจบลงไปก็มีการให้เส้นบนหน้าจอของทีมงาน วีเออาร์ มีความกว้างในระดับ 5 เซนติเมตรเหมือนกัน

– คนทางบ้านอดเห็น

ถึงกระนั้น ในซีซั่นใหม่นี้มันก็มีการกำหนดว่าจะไม่มีการฉายเส้นจำลองว่าล้ำหน้าหรือไม่ให้ผู้ชมจากทางบ้านได้เห็นอีกต่อไปแล้ว โดยมีการให้เหตุผลว่าที่ผ่านมามีบางคนเอาภาพที่ฉายทางทีวีไปตัดต่อจนทำให้เกิดความเข้าใจผิด และทำให้ทางทีมกรรมการโดนตำหนิไปในตัวทั้งที่บางครั้งพวกเขาไม่ได้ตัดสินผิดเลย

– จุดล้ำหน้าของร่างกาย

มีการกำหนดจากทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) แล้วว่าตอนนี้ “ใต้รักแร้” เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย และจะมีการตัดสินว่าล้ำหน้าหรือไม่จากจุดนั้นเป็นต้นไป

– นิยามการแฮนด์บอล

ต่อไปนี้การที่บอลไปโดนมือโดยบังเอิญที่กลายเป็นจังหวะแรกของการนำไปสู่การทำประตูนั้นจะไม่ถูกตัดสินให้เป็นจังหวะแฮนด์บอลอีกต่อไปแล้ว ในทางกลับกัน หากมันเป็นการทำแฮนด์บอลที่มีส่วนกับการสร้างโอกาสทำประตูโดยตรง หรือกลายเป็นการทำให้บอลเข้าตาข่ายไปเลยก็จะถูกจับฟาวล์

ยกตัวอย่างเช่น หากบอลไปโดนมือกองหลังของทีม A ตั้งแต่ตอนที่บอลอยู่ในแดนของเขา ก่อนที่จะมีการต่อบอลกันอีก 5-6 จังหวะก่อนที่จะนำไปสู่การทำประตู มันก็จะไม่โดนจับว่าเป็นแฮนด์บอล ในทางกลับกัน หากบอลไปโดนมือผู้เล่นทีม A จนบอลลอยไปเข้าทางเพื่อนร่วมทีมคนต่อไปแล้วคนๆ นั้นทำประตูได้ในทันที มันก็จะถูกจับเป็นจังหวะฟาวล์

นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนคำนิยามถึงการทำให้ “ร่างกายใหญ่ขึ้นแบบไม่เป็นธรรมชาติ” ด้วย โดยมันไม่มีการขยับท่าทางไหนที่จะถูกระบุให้เป็น “การขยับแบบไม่เป็นธรรมชาติ” อีกต่อไป ซึ่งนั่นทำให้เหล่ากรรมการสามารถตัดสินโดยยึดจากการเคลื่อนไหวของนักเตะและโมเมนตัมของร่างกายเป็นหลักได้โดยตรง

– โดนตัวเบาๆ จะไม่เป็นการฟาวล์เพื่อลดจุดโทษ

ในฤดูกาล 2020-21 มันมีลูกจุดโทษในเกมระดับ พรีเมียร์ลีก เกิดขึ้นถึง 125 ลูก ซึ่งถือว่าสูงเป็นสถิติ โดยส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นแบบนั้นก็คือกรรมการมีการเป่าฟาวล์ด้วยทั้งที่บางจังหวะนั้นแนวรับไปโดนตัวแนวรุกแค่เบาๆ เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ในซีซั่น 2021-22 มันเลยมีการเปลี่ยนว่าต่อไปนี้การโดนตัวเบาๆ ในกรอบเขตโทษซึ่งดูแล้วไม่น่าจะถึงขั้นทำให้แนวรุกต้องล้มลงนั้น จะไม่ถูกตัดสินให้เป็นการฟาวล์อีกต่อไป

– ยกธงล้ำหน้าเร็วขึ้น

ที่ผ่านมามันจะมีการยกธงล้ำหน้าก็ต่อเมื่อมีการหยุดจังหวะการเล่นไปแล้ว ซึ่งนั่นทำให้นักเตะบางคนวิ่งแบบฟรีๆ แต่ต่อไปนี้มันจะมีการยกธงตั้งแต่แรกๆ ถ้าหากมันไม่ใช่จังหวะที่มีการลุ้นประตูในทันที

– เป่าฟาวล์กับการหนุนหลังคู่แข่ง

มันมีบางครั้งที่นักเตะหันหลังเข้าหาคู่แข่งในจังหวะที่อีกฝ่ายกระโดดเล่นลูกกลางอากาศเพื่อที่จะเรียกฟาวล์ โดยหนึ่งในคนที่ทำอย่างนั้นจนโดนตำหนิอย่างหนักก็คือ แฮร์รี่ เคน กองหน้า สเปอร์ส แต่ล่าสุดมีการกำหนดแล้วว่าการเล่นแบบนั้นถือเป็นการเล่นที่อันตราย และคนที่ทำแบบนั้นก็จะโดนจับฟาวล์

– เปลี่ยนตัวแบบพิเศษ

ใน พรีเมียร์ลีก จะยังมีการใส่ตัวสำรองได้สูงสุด 9 คนเหมือนเดิม ต่างกับตั้งแต่ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ลงไปที่มีตัวสำรองได้ 7 คนเท่านั้น และแต่ละทีมก็สามารถเปลี่ยนตัวตามปกติได้สูงสุด 3 รายเท่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ที่มีการเปลี่ยนไปก็คือมีการให้โควตา “การเปลี่ยนตัวคนที่มีอาการกระทบกระเทือนทางสมอง” เพิ่มจากการเปลี่ยนตัวตามปกติด้วย หลังจากมีการคุยกันว่าบรรดานักฟุตบอลเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บแบบดังกล่าวจนอาจจะส่งผลถึงการเสียชีวิต ซึ่งโควตาการเปลี่ยนตัวคนที่มีอาการกระทบกระเทือนทางสมองนั้นแต่ละทีมสามารถทำได้ 2 คนต่อ 1 เกม